ข้อมูลทั่วไป
สภาพทั่วไป
ที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านปากกุดหวาย ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวารินชำราบ 10 กิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เนื้อที่
พื้นที่ทั้งหมด 13,221 ไร่ หรือ 21.15 ตารางกิโลเมตร
ภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปตั้งอยู่เลียบแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลมาจากอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีษะเกษ ผ่านทางทิศเหนือของอำเภอวารินชำราบ ไปอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโขงเจียม ลงสู่แม่น้ำโขงและมีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ กุดหวาย กุดปลาโด กุดตะวัน กุดไฟไหม้ กุดขวาง กุดบักเบ็น
จำนวนหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน
จำนวนหมู่บ้านในเขตพื้นที่ อบต. เต็มทั้งหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 ถึง หมู่ 9
ประชากร
ประชากรทั้งสิ้น 7,306 คน แยกเป็นชาย 3,656 คน หญิง 3,650 คน
อาชีพ
อาชีพหลักส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา ทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ) มีการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมเครื่องจักรสาน เข่งปลาทู ปั้นอิฐ ฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง ประชากรบางส่วนอพยพไปทำงานต่างจังหวัด
การศึกษา
- โรงเรียนประถมศึกษา 7 แห่ง
- โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (ขยายโอกาส) 2 แห่ง
สถาบันและองค์กรทางศาสนา
- วัด/สำนักสงฆ์ 10 แห่ง
- โบสถ์ (คริสต์) 1 แห่ง
สาธารณสุข
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพล 1 แห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากกุดหวาย 1 แห่ง
- อัตราการมีและใช้ส้วมราดน้ำ ร้อยละ 100
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- ตำรวจชุมชน 18 แห่ง
การคมนาคม
ถนน มีจำนวน 114 สาย แบ่งเป็น
- ถนนคอนกรีต จำนวน 72 สาย
- ถนนลูกรัง จำนวน 19 สาย
- ถนนดิน จำนวน 23 สาย
การโทรคมนาคม
- บริการอินเตอร์เน็ตตำบล 1 แห่ง
การไฟฟ้า
มีไฟฟ้าเข้าถึง 9 หมู่บ้าน ประชากรมีไฟฟ้าใช้ 2,012 ครัวเรือน ครบทุกครัวเรือน
แหล่งน้ำธรรมชาติ
ลำน้ำ ลำห้วย 2 สาย
- บึง หนองและอื่น ๆ 10 แห่ง
แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
- ฝาย 1 แห่ง
- อื่น ๆ (สระน้ำ) 18 แห่ง
ทรัพยากรธรรมชาติ
มีป่าไม้ลักษณะป่าชุมชน แหล่งน้ำธรรมชาติมีแม่น้ำมูลไหลผ่าน 5 หมู่บ้าน
มวลชนจัดตั้ง
- ลูกเสือชาวบ้าน 2 รุ่น 300 คน
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 1 รุ่น 50 คน
- ทีมหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ภัย 1 รุ่น 10 คน
แหล่งท่องเที่ยว
- แหล่งน้ำธรรมชาติ หาดทรายแก้ว แม่น้ำมูล ที่เหมาะต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
- จุดชมวิวท่าน้ำบ้านหนองกินเพล เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- อุตสาหกรรมจักรสานจากไม้ไผ่ ปั้นอิฐ จากภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น
ศาสนา
ผู้นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีวัดในพื้นที่ 9 วัด สำนักสงฆ์ 1 แห่ง ผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ร้อยละ 0 ของประชากรทั้งหมดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
วัฒนธรรม
ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล นับถือศาสนาพุทธ จึงมีความผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และเป็นผู้มีจิตใจเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสงบ มีประเพณีเก่าแก่ที่ยึดมั่นและถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมานาน เช่น ประเพณีบุญพระเวส เป็นการทำบุญเดือนสี่ โดยจัดให้มีการเทศน์มหาชาติที่วัด ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา กำหนดจัดงานในเดือนแปดของทุกปี เป็นประเพณีที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี โดยการนำเทียนไปถวายวัดทุกวัดในเขตตำบลหนองกินเพล ประเพณีออกพรรษา คือการทำบุญออกพรรษาในเดือนสิบเอ็ด โดยการจัดทำปราสาทผึ้ง ภายในจะมีขนมจีน ข้าวต้ม กล้วย อ้อย เสื่อ หมอน ฝ้าย อาหารคาว-หวาน นำไปทอดที่วัดเพื่อถวายพระ ขณะแห่ไปมีการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน และมีการไหลเรือไฟ เป็นการนำเอาท่อนกล้วยหรือท่อนไม้มาทำเป็นเรือเวลาประมาณทุ่มเศษ ๆ ก็นำมาจุดไฟโดยใช้ขี้ไต้ หรือน้ำมันยาง แล้วปล่อยเรือให้ไหลไปตามน้ำ และตามวัดต่างๆ พระสงฆ์จะจัดทำเรือไฟเอาไว้ตรงหน้าโบสถ์ ซึ่งตอนกลางคืนจะมีการนำเอาดอกไม้ ธูป เทียน มาจุดเป็นพุทธบูชา ประเพณีแข่งขันเรือยาวประเพณีประจำปี กำหนดจัดงานหลังงานวันออกพรรษา คือ ประมาณเดือนสิบเอ็ด เป็นงานประเพณีที่ได้รับความสนใจของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ผังโครงสร้างหน่วยงาน
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดทำ ประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล เรื่อง กำหนดโครงสร้างส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แนบมาด้วยนี้ จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
อำนาจหน้าที่
การพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล นั้น เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนของชุมชนในการร่วมคิดร่วมแก้ไขปัญหา ตลอดจนร่วมสร้างร่วมส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นในทุกด้าน การพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล จะสมบูรณ์ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน ในพื้นที่เกิดความตระหนักร่วมกันแก้ไขปัญหาและความเข้าใจในแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ยังได้เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นอกจากนั้นยังได้เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้การศึกษาเด็กก่อนวัยเรียน และพัฒนาเยาวชนให้พร้อมที่จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยยึดกรอบแนวทางในการจัดระเบียบการศึกษา ส่วนด้านพัฒนาอาชีพนั้น จะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองในท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล กำหนดวิธีการดำเนินการตามภารกิจสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาตำบล นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้สามารถวิเคราะห์ภารกิจให้ตรงกับสภาพปัญหา โดยสามารถกำหนดแบ่งภารกิจได้เป็น 7 ด้าน ซึ่งภารกิจดังกล่าวถูกกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและ องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537( แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับปัจจุบัน ) และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ดังนี้
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- การจัดการและดูแลสถานีขนส่งทางบกและทางน้ำ มาตรา 67 (1)
- ให้มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร มาตรา 68 (1)
- ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น มาตรา 68 (2)
- ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ มาตรา 68 (3)
- การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ มาตรา 16 (4)
- การสาธารณูปการ มาตรา 16 (5)
ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ มาตรา 67 (6)
- ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ มาตรา 67 (3)
- ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬาการพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ มาตรา 68 (4)
- การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส มาตรา 16 (10)
- การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย มาตรา 16 (2)
- การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล มาตรา 16 (19)
ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย
- การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 67 (4)
- การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มาตรา 68 (8)
- การผังเมือง มาตรา 68 (13)
- การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 16 (17)
- การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 16 (5)
ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว
- ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว มาตรา 68 (6)
- ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์ มาตรา 68 (5)
- บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร มาตรา 68 (7)
- ให้มีตลาด มาตรา 68 (10)
- การท่องเที่ยว มาตรา 68 (12)
- กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์ มาตรา 68 (11)
- การส่งเสริม การฝึกและการประกอบอาชีพ มาตรา 16 (6)
ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- การคุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 67 (7)
- รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งฝอยและสิ่งปฏิกูล มาตรา 67 (2)
- การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ มาตรา 17 (12)
ด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น มาตรา 67 (8)
- ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มาตรา 67 (5)
- การจัดการศึกษา มาตรา 16 (9)
- การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น มาตรา 17 (18)
ด้านการบริหารจัดการและการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- สนับสนุนสภาตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องงถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรืบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร มาตรา 67 (9)
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎร ในการมีมาตรการป้องกัน มาตรา 16 (16)
- การประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 17 (3)
- การสร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น มาตรา 17 (16)
ถาม-ตอบ Q&A
- ถาม : เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ออกวันไหนค่ะ ?
- ตอบ : ไม่เกินวันที่ 10 ของทุกเดือนคะ
- ถาม : ชำระภาษีโรงเรือนช่วงพักเที่ยงได้ไหมครับ ?
- ตอบ : ได้ค่ะ มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ ไม่พักกลางวันค่ะ
- ถาม : สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้รึยังค่ะ ?
- ตอบ : เปิดให้บริการแล้วนะค่ะ
- ถาม : ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Government e-Service) คืออะไร ?
- ตอบ : ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ คือ การให้บริการข้อมูลและการทำธุรกรรมของภาครัฐผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอรับบริการ เกณฑ์ในการพิจารณาว่าระบบสารสนเทศของหน่วยงานจัดว่าเป็นระบบบริการ อิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ครอบคลุมถึงการให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลภายนอกหรือไม่ โดยกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้ง ประชาชน หน่วยราชการ ภาคธุรกิจ และองค์กร และมีการให้ข้อมูล สนับสนุน หรือให้บริการที่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานท่านหรือไม่
ประวัติความเป็นมา
ตราสัญลักษณ์
ตำบลหนองกินเพล มีประวัติความเป็นมา เมื่อประมาณปี พ.ศ 2400 โดยได้มีชนกลุ่มหนึ่งจากอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางเร่ร่อนเพื่อหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตามเล่าขานมาถึงแม่น้ำมูลเลยหยุดพักกินข้าวและเห็นว่าเป็นที่ลุ่มที่ดอนเหมาะที่จะพักอยู่อาศัยจึงข้ามลำน้ำมูลมาฝั่งวารินฯ (อำเภอวารินชำราบในปัจจุบัน) และมีท่าน้ำติดแม่น้ำมูลเป็นทางเดินเกวียนสมัยก่อน ชนกลุ่มนี้ จึงได้ตั้งรกราก ปลูกบ้านขนาดเล็กขึ้นมา ในสมัยนั้นยังขาดผู้ใหญ่บ้านอยู่เพราะเป็นชนกลุ่มน้อย โดยมีชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านท่ากกไฮ"
ที่มาของชื่อ "บ้านท่ากกไฮ" นั้น มาจากเดิมทีมี "ต้นไฮ" (ต้นไทร) ขนาดใหญ่หลายคนโอบอยู่ที่ท่าน้ำ ทางเกวียนลงสู่แม่น้ำมูน หรือริมตลิ่งแม่น้ำมูน วันหนึ่งได้มีพ่อค้าเดินทางผ่านมาทางน้ำโดยนั่งเรือ สมัยนั้นเรียกว่า "เรือกระแซง" ทำการค้าขายทางเรือโดยพ่อค้าคนนั้นมาขายปลาแดก (ปลาร้า) มาทำการจอดเรืออยู่ใต้ต้นไฮใหญ่เพื่อพักอาศัยร่มเงา แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อยู่ดีๆ กิ่งไฮก็หักลงมาทับเรือ ทับคนในเรือ ทำให้มีคนตายที่ท่าน้ำนี้นี่เอง จึงทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อท่าน้ำนี้ว่า "ท่ากกไฮ" และเกิดเป็นตำนานบ้านท่ากกไฮ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาชาวบ้านในชุมชน และผู้นำชุมชนได้คิดชื่อหมู่บ้านกันขึ้นมาใหม่ และเนื่องจากในยุคนั้น การสัญจรรอนแรม การคมนาคม ไปมาหาสู่ของพ่อค้าคนทำมาหากิน จะเดินทางด้วยเท้า ด้วยเกวียน และเรือ โดยบังเอิญในสมัยนั้น ได้มีคณะที่ทำการค้าขาย (พ่อค้าแม่ค้า) และผู้สัญจรเดินทางผ่านระหว่างหมู่บ้าน อำเภอ อยู่เรื่อยๆ แต่พอเดินทางมาถึง บริเวณทุ่งนา (ของบ้านท่ากกไฮ) ทุกวันจะมาถึงช่วงพระท่านตีกลองเพลเป็นประจำ ไม่ว่าจะจากฝั่งโน้น (ฝั่งอุบลราชธานี) หรือมาจากทางสำโรงก็ตาม และทำเลที่บ้านท่ากกไฮ ก็เป็นทำเลเหมาะในการหยุดพักกินข้าวกลางวัน ซึ่งคนพื้นบ้านเรียกว่า "กินเพล"
ด้วยเป็นทำเลชายป่าไม้ยางใหญ่ ร่มรื่น มีฟืน มีแหล่งน้ำสะอาด เป็นหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถหาปลามาเป็นอาหารกลางวัน ให้แก่คณะเดินทางได้ง่าย ชาวบ้านมีอัธยาศัยดีงาม ให้การช่วยเหลือเกื้อกูล พริกและผักสวนครัวในนาในไร่ ไม้ฟืนป่าก็พอเพียง คณะเดินทาง พ่อค้าต่างๆ จึงถือเป็นจุดพักกินอาหารกลางวัน จึงเป็นที่ติดปาก ของผู้คนที่สัญจรไปมาทุกคน จะพูดนัดหมายกันอย่างติดปากไว้ว่า "พ้อกันอยู่หนองกินเพลเด้อ" คือ ลักษณะการนัดพบกินข้าวเที่ยงกันที่ "บ้านท่ากกไฮ" นั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านและผู้นำชุมชน ได้ชื่อของหมู่บ้านใหม่ จากเดิมชื่อว่า "บ้านท่ากกไฮ" เป็น "บ้านหนองกินเพล"
แต่เดิมนั้น "บ้านหนองกินเพล" ขึ้นกับ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาก็มีการจัดตั้ง "บ้านหนองกินเพล" เป็น "ตำบลหนองกินเพล" อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดย "กำนัน" คนแรก ของตำบลหนองกินเพล คือ นายทองดี ปาคำศรี
https://nongkinphen.go.th/tax-knowledge/itemlist/category/20-about-us#sigProGalleriac9967ed750
วิสัยทัศน์-พันธกิจ
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล เป็นผู้บริหารสูงสุด มีภารกิจอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับและมติครม.ที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนด วิสัยทัศน์การพัฒนา (vision) การพัฒนา ภาพการณ์ที่ปรารถนาให้เกิดขึ้นในอนาคต ของ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล ดังนี้
วิสัยทัศน์ (Vision)
วิสัยทัศน์การพัฒนา (vision) หมายถึง สภาพการณ์ที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในอนาคต
“ตำบลน่าอยู่ การคมนาคมสะดวก คุณภาพชีวิตดี มีรายได้ สังคมสงบสุข และบริหารองค์กรแบบมีส่วนร่วม”
พันธกิจ (Mission)
พันธกิจ (Mission) หมายถึง ขอบเขตของบทบาทหน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จำเป็นต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ (คือเราต้องทำอะไรถึงจะบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่เรากำหนดไว้)
- พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ได้มาตรฐานบริการประชาชน
- ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพแก่ประชาชน
- ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในระดับท้องถิ่น
- ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง
- ส่งเสริมและพัฒนาระบบการป้องกัน การดูแล และการรักษาสุขภาพ แก่ประชาชน
- ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักสิทธิ หน้าที่ ตามกฎหมาย ในระบอบประชาธิปไตย
- ส่งเสริมและบูรณาการระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ส่งเสริมระบบการตรวจสอบการทำงานภาครัฐโดยภาคประชาชน
- ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน
- ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น
- บริหารจัดการการท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล
- ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการพาณิชยกรรม
- บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
- จัดให้มีระบบบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ
- อนุรักษ์ฟื้นฟู และเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
เป้าหมาย (Goal)
เป้าหมาย (Goal) หมายถึง การระบุสภาพที่ต้องการให้สำเร็จ (การดำเนินการ เพื่อให้เกิดอะไร ถึงจะบรรลุตามวิสัยทัศน์หรือภาพความสำเร็จของวิสัยทัศน์)
- ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
- ประชาชนมีความรู้ด้านการประกอบอาชีพ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานภูมิปัญญาสมัยใหม่
- โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับบริบทวิถี ชีวิตของท้องถิ่น
- ครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็ง
- ประชาชนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและการป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ
- ประชาชนมีความรู้ปรัชญาอุดมการณ์ สิทธิและหน้าที่ของตนเองในระบอบประชาธิปไตย
- ศูนย์ประสานงานและบูรณาการข้อมูล ทรัพยากร ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรภาคประชาชน
- ระบบการทำงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้ มีส่วนร่วม ในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นทุกระดับชั้น
- ศูนย์บูรณาการข้อมูลการท่องเที่ยวที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน
- อุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลุ่มอาชีพ ได้รับการส่งเสริมแบบครบวงจร (ความรู้ การผลิต การบริหารการตลาด) ในการกำหนดทิศทางการจัดการทุกขั้นตอน
- ประชาชนมีองค์ความรู้ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในการเข้ามามีส่วนร่วมในการ กำหนดทิศทางการจัดการทุกขั้นตอน
- ความเป็นระบบของข้อมูลพื้นที่เป็นสาธารณะ ผู้รับผิดชอบ และการใช้สอยร่วมกันของประชาชน
- มีการจัดระบบการเรียนรู้ เผยแพร่ สืบทอด และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น